ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ไหว้พระ 9 วัด ขสมก. สายอยุธยา

     วันนี้จูงมือน้องร่วมสำนักงานมาไหว้พระเก้าวัดกับ ขสมก. ที่ไม่ได้ไปมาเสียนาน คราวนี้เลือกสาย อยุธยา ตามใจน้อง อีกทั้งยังเป็นการไปกราบหลวงพ่อวัดพนัญเชิงประจำปีนี้เสียด้วย

8:00 น. รถเมล์เฉพาะกิจสาย 510 ออกเดินทางจากอู่บางเขน

DSCF8540 DSCF8542 DSCF8545

วัดอัมพุวราราม จังหวัดปทุมธานี

    เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัย สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เป็นวัดของทหารชาวรามัญที่มาช่วยรบในสมัยสงคราม 9 ทัพ เมื่อชนะศัตรูแล้วโปรดให้มาดูแลพระนครด้านทิศเหนือ กลุ่มใหญ่ ชาวรามัญจึงได้สร้างวัดขึ้น ที่วัดนี้ชาวคณะสายอยุธยากับสายนนทบุรีมาทอดผ้าป่าร่วมกัน หลังจาดทำบุญแล้วชาวบ้านเลี้ยงข้าวต้ม กับข้าวแช่เป็นอาหารเช้าด้วย วัดนี้อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา เลยได้เดินเลยไปให้อาหารปลาด้วย แต่ปลาที่นี่ตัวไม่ใหญ่และเยอะเท่าวัดระฆังที่ไปบ่อยๆ

DSCF8556 DSCF8559 DSCF8565

วัดท่าการ้อง

     เป็นวัดโบราณมีมาแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง โดยการรวมวัด 2 วัดเข้าด้วยกัน คือ วัดท่าและวัดการ้อง สร้างขึ้นก่อนราว พ.ศ. 2092 โดยไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง มีเพียงบันทึกในพระราชพงศาวดารว่าพม่าได้มาตั้งค่ายที่วัดการ้อง ถึง 2 ครั้ง คือ สมัยพระมหาจักรพรรดิ เมื่อ พ.ศ. 2106 โดยพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ได้ยกทัพมาตั้งค่ายที่วัดการ้องเมื่อคราวสงครามช้างเผือก และอีกครั้งคือสมัยพระเจ้าเอกทัศ โดยเนเมียวสีหบดีแม่ทัพพม่าเมื่อ พ.ศ. 2310 ต่อมาในยุคปัจจุบันเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดท่าการ้องได้ถูกดัดแปลงเป็นโรงเรียนนายร้อยฝ่ายช่างเทคนิค โดยได้ใช้ศาลาการเปรียญเป็นห้องเรียน

     สำหรับวัดนี้เคยมาครั้งแรกตอนไหว้พระ 9 วัดเมื่อหลายปีก่อน สมัยนั้นจุดขายสำคัญคือ เป็นวัดที่ห้องน้ำสวยมาก แต่มาคราวนี้ทุกอย่างดูผิดหูผิดตาไปหมด เหมือนสิ่งปลูกสร้างต่างๆจะมากขึ้น อย่างเช่น รูปสมเด็จโตองค์ใหญ่บนศาลาการเปรียญหลังเก่า อาคารประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่มีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งเกจิอาจารย์ และตลาดน้ำขนาดย่อมๆ สิ่งที่ทำให้จำวัดนี้ได้จริงๆคงเป็นกล่องทำบุญที่มีการเอาหุ่นมาดัดแปลง คอยส่งเสียงเชิญคนที่เดินผ่านไปมาให้เข้าไปร่วมทำบุญ เยอะจริงๆค่ะ หันไปทางไหนก็เจอ เสี่ยงเซียมซีกับหลวงพ่อยิ้ม ได้เบอร์ 20 ผลออกมาดีพอสมควร ถึงทุกอย่างจะมีอุปสรรค แต่ถ้าไม่ยอมแพ้แล้ว สุดท้ายก็จะผ่านไปได้ด้วยดี

    ไหว้พระเสร็จก็เดินไปดูตลาดน้ำที่เค้าว่ากันสักหน่อย สรุปโดยย่อก็คงจะประมาณศูนย์อาหารลอยน้ำ เพราะร้านอาหารต่างๆยกครัวไปทำกันในเรือแจวล้อมรอบส่วนที่เป็นเพิงถาวร วางโต๊ะ เก้าอี้ ไว้สำหรับให้คนนั่งทาน โดยรวมแล้วไม่ค่อยดึงดูดใจคนที่ท้องยังอิ่มสักเท่าไหร่ แต่ก็ยังได้ข้าวเกรียบปลาหิ้วกลับมาขึ้นรถ 1 ถุงถ้วน

วัดตูม 02 วัดตูม 01

วัดตูม

         เป็นวัดโบราณครั้งเมืองอโยธยา สร้างมาก่อนที่จะตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และวัดนี้คงจะเป็นวัดร้างมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อคราวเสียกรุงในปี ๒๓๑๐ หรือก่อนหน้านั้น เพราะเป็นวัดอยู่เกาะนอกเมือง เมื่อข้าศึกเข้าล้อมกรุงฯ ผู้คนก็พากันอพยพหลบหนีกันหมด แม้พระสงฆ์องค์เจ้าก็คงอยู่ไม่ได้ จึงร้างมาแต่ครั้งนั้น ครั้งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงได้มีผู้ปฏิสังขรณ์ขึ้นอีก และเป็นวัดที่พระสงฆ์จำพรรษามาจนทุกวันนี้ และเป็นวัดสำหรับลงเครื่องพิชัยสงครามมาแต่ก่อนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ 

     "หลวงพ่อทองสุขสัมฤทธิ์"  พระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะแปลกประหลาด กว่าพระพุทธรูปองค์อื่นในประเทศไทย คือ พระเศียรตอนเหนือพระนลาฏเปิดออกได้กับพระเกศมาลาถอดได้ เมื่อปิดไว้ตามเดิมแล้วจะแนบสนิทเกือบเป็นชิ้นเดียวกันไม่ปรากฏรอยเลย ภายในพระเศียร เป็นบ่อกว้างลึกลงไปเกือบถึงพระศอ มีน้ำไหลซึมออกมาตลอดเวลาเหมือนหยาดน้ำเหงื่อ เป็นน้ำใสเย็นบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน สามารถรับประทานได้ โดยปราศจากอันตรายใดๆ และไม่ขาดแห้ง ปรากฏเป็นอัศจรรย์อยู่เช่นนี้ตลอดมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แม้จะตักออกมาแล้วใช้สำลีชุบหรือเช็ดให้แห้งบถือน้ำในพระเศียรของพระพุทธรูปองค์นี้ว่าเป็น “น้ำศักดิ์สิทธิ์” เกิดขึ้นด้วยอำนาจอภินิหารบารมี สามารถบำบัดรักษาสรรพโรคภัยไข้เจ็บและบรรเทาทุกข์ร้อนให้ความสุขความร่มเย็นได้ ตอนไปกราบท่านก็ได้ขอน้ำมันมาพรมที่ศีรษะนิดหน่อย พอเป็นศิริมงคลด้วยค่ะ

วัดราชประดิษฐาน 02 วัดราชประดิษฐาน 04 วัดราชประดิษฐาน 06

วัดราชประดิษฐาน

     วัดนี้สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เป็นวัดที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเฑียรราชทรงผนวชอยู่ และเมื่อก่อนเสียกรุงฯ ใน พ.ศ.2310 พระเจ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต (ขุนหลวงหาวัด) ซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดประดู่โรงธรรม นอกพระนครก็ได้เสด็จมาประทับอยู่ ณ วัดนี้ จวบจนกระทั้งเสียกรุงฯ แล้ว จึงถูกพม่าเชิญไปยังประเทศพม่าด้วย วัดนี้มีโบราณสถานอยู่รายรอบวัดพอสมควร ที่เป็นจุดสังเกตเป็นพิเศษคือ ใบเสมาของวัดนี้เป็นเสมาคู่

วัดแม่นางปลื้ม 01 วัดแม่นางปลื้ม 02 วัดแม่นางปลื้ม 03

วัดแม่นางปลื้ม

     วัดแม่นางปลื้ม สร้างเมื่อ พ.ศ.1920 ในสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นวัดร้างที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงบูรณะวัดนี้ให้กับแม่ปลื้ม แม่ปลื้มเป็นชาวบ้านธรรมดา บ้านอยู่ริมน้ำชานเมืองพระนคร อาศัยอยู่เพียงผู้เดียวไม่มีลูกหลาน วันหนึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จพายเรือมาแต่พระองค์เดียวท่ามกลางสายฝน พอเสด็จมาถึงเห็นการะท่อมยังมีแสงตะเกียงอยู่และเวลานั้นก็ยังค่ำอยู่ จึงได้แวะขึ้นมาในกระท่อม เมื่อแม่ปลื้มเห็นชายฉกรรจ์เสื้อผ้าเปียก จึงกล่าวเชื้อเชิญต้อนรับด้วยความมีน้ำใจ แต่พระองค์ท่านเสียงดังตามบุคลิกนักรบชายชาตรี แม่ปลื้มจึงกล่าวเตือนว่า ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าเสียงดังนักเลย เวลานี้ค่ำมากแล้วเดี๋ยวพระเจ้าแผ่นดินท่านทรงได้ยินจะโกรธเอา พระองค์กลับตรัสเสียงดังว่าอยากดื่มน้ำจันทร์ ข้าเปียกฝน ข้าหนาว อยากได้น้ำจันทร์ให้ร่างกายอบอุ่น ยิ่งทำให้แม่ปลื้มตกใจมากขึ้นอีก เพราะวันนี้เป็นวันพระจึงกล่าวว่า ถ้าเจ้าจะดื่มจริงๆ เจ้าต้องสัญญาไม่ให้เรื่องนี้แพร่หลาย เดี๋ยวพระเจ้าแผ่นดินรู้จะเป็นอันตราย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงรับปาก แม่ปลื้มจึงได้หยิบน้ำจันทร์ให้เสวย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประทับค้างคืนที่บ้านแม่ปลื้ม เช้าเสด็จกลับวัง ต่อมาได้จัดขบวนมารับแม่ปลื้มไปเลี้ยงในวังด้วยความที่แม่ปลื้มเป็นคนเมตตา จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ หลังจากแม่ปลื้มเสียชีวิต สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงจัดงานศพให้อย่างสมเกียรติ และ เสด็จมาบูรณะวัดร้างเพื่ออุทิศให้แม่ปลื้ม

     วัดนี้เป็นวัดที่ชอบที่สุดในการเดินทางครั้งนี้ เนื่องจากเป็นวัดเล็กๆที่ บรรยากาศดูเก่าแก่จริงๆ ตั้งแต่ซุ้มประตูทางเข้า จนถึงเจดีย์ซึ่งมีสิงห์ล้อมรอบอยู่ด้านหลัง

วัดหน้าพระเมรุ

 DSCF8598 DSCF8602 DSCF8589

     เนื่องจากเคยเป็นวัดที่พม่าใช้ตั้งฐานบัญชาการจึงไม่ถูกพม่าทำลาย วัดนี้มีพระพุทธรูปสำคัญที่ต้องไปกราบนมัสการหลายจุด จะรีบเดินกัยหน่อยค่ะ เริ่มด้วยพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน พระพรหม หลวงพ่อขาว ในพระอุโบสถมีพระประธานปางมารวิชัยทรงเครื่องพระมหากษัตราธิราช “พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ” ปิดท้ายด้วย พระวิหารคันธารราฐ นมัสการพระพุทธรูปศิลา (ศิลาเขียว) ประทับนั่งห้อยพระบาท พระนามว่า “พระคันธารราฐ” ที่วัดนี้มีเศียรพระที่มีรากไม้ล้อมรอบคล้ายๆที่วัดมหาธาตุด้วย แต่รูปร่าง และขนาดไม่ใหญ่เลยไม่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเท่า

DSCF8603

วิหารพระมงคลบพิตร

        กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 นั้น พม่าใช้ไฟสุมลอกทองจากองค์พระ ทำให้องค์พระพุทธรูป ตลอดจนพระวิหารได้รับความเสียหายมาก นับแต่นั้นมาจนกระทั่งถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จึงได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้น แต่มิได้ตั้งเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาแต่อย่างใด สำหรับรูปเก่าๆตอนที่บูรณะก็มีแขวนให้เห็นด้านในวิหารโดยรอบ รวมถึงเศียรพระที่กู้มาจากซากโบราณสถานโดยรอบ

DSCF8608 DSCF8614 DSCF8620

วัดใหญ่ชัยมงคล

     วำหรับวัดนี้เราเริ่มต้นด้วย การไปสักการะที่ตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับถึงความสัมพันธ์ของวัดกับสมเด็จท่าน ดังนี้ เมื่อครั้งที่พระนเรศวรกระทำยุทธหัตถี กับพระมหาอุปราชของพม่าจนได้ชัยชนะนั้น บรรดาทหารไม่สามารถติดตามช้างทรงได้ทัน จนพระองค์ต้องตกอยู่ในวงล้อมของข้าศึก ซึ่งตามกฏแล้วทหารเหล่านั้นจะต้องโทษถึงประหารชีวิต แต่ในระหว่างที่รออาญาอยู่นั้น สมเด็จพระวันรัตน พระสังฆราชพร้อมด้วยพระสงฆ์ 25 รูปได้ขอให้พระนเรศวรพระราชทานอภัย ยกเว้นโทษให้กับทหารเหล่านั้น โดยให้เหตุผลว่าพระองค์เปรียบดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แวดล้อมด้วยหมู่มารก่อนที่จะตรัสรู้ เป็นการประกาศเกียรติและบารมีความกล้าหาญและความเก่งกาจของพระองค์ให้ขจรกระจายไปทั่วแคว้นทั่วแผ่นดิน เมื่อได้อภัยโทษให้เหล่าทหารแล้วสมเด็จพระนเรศวรจึงโปรดให้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ และความมีน้ำพระทัยของพระองค์ ที่มีต่อทหารเหล่านั้นทั้งยังเปลี่ยนโทษตายกลายเป็นสร้างบุญ พระะราชทานนามว่า “เจดีย์ชัยมงคล”  ว่าแล้วก็ลองไปเมี่ยงๆมองๆ "เจดีย์ชัยมงคล" ซึ่งเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในอยุธยา สักหน่อยเห็นขั้นบันได้ไม่ชันนักว่าจะลองขึ้นดูสักหน่อย แต่ที่ไหนได้ขึ้นไปได้แค่ชานพัก มองเหลียวหลังมาเกิดขาสั่น ผสมกับความเหนื่อยที่สะสมมาตั้งแต่เช้า ความเป็นไปได้ที่จะเป็นลมกลิ้งลงมาเกิน 50 % เลยต้องล้มเลิกความตั้งใจ

วัดพนัญเชิง 01 วัดพนัญเชิง 04 วัดพนัญเชิง 06

วัดพนัญเชิง

     วัดนี้เป็นวัดที่มาพระจำตั้งแต่เด็ก เพราะที่บ้านนับถือท่านมากต้องมาไหว้ทุกปี พระห้อยคอองค์แรกๆที่ติดตัวมาเป็นสิบปีจนกร่อนแล้วกร่อนอีกก็หลวงพ่อโตนี่แหละ แต่ที่ตลกก็คือ ทุกครั้งที่มาไม่เคยได้ลงไปไหว้ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมากเลยสักครั้งทั้งที่อยู่ติดกันทางด้านซ้ายของวิหารหลวงพ่อนี่เอง คราวนี้เลยได้โอกาสลงไปดูสักหน่อย ในศาลคนไม่เยอะเท่าไหร่ ผิดกับในวิหาร รูปปั้นแทนตัวท่านมีสององค์ องค์ชั้นล่างเป็นองค์ใหม่ ส่วนองค์ดั่งเดิมอยู่ที่ชั้นบน เห็นว่าท่านศักดิ์สิทธิ์เรื่องความรัก แต่เราไม่ได้ขอหรอกนะคะ เดินทะลุไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาก็เจอกับรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมพันมือ

     สำหรับทริปนี้ สิ้นสุดการเดินทางกลับมาถึงกรุงเทพตอน หกโมงครึ่งค่ะ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ชมรมรัก คลับมหาสนุก

ชื่อเรื่องภาษาไทย ชื่อเรื่องภาษาญี่ปุ่น ชมรมรัก คลับมหาสนุก ouran koukou host club เรื่อง และ ภาพ Bisco  hatori จำนวนเล่มทั้งหมด 18 สำนักพิมพ์ อ่านจบเมื่อ บงกชคอมมิคส์ 30 กรกฎาคม 2557 เรื่องย่อ            ฮารุฮิ เข้าเรียนในโรงเรียนโอรัง ที่แสนจะไฮโซด้วยทุนเรียนดี เธอใช้ชีวิตนักเรียนมัธยมปลายด้วยการแต่งตัวเป็นนักเรียนชาย     วันหนึ่งระหว่างหามุมสงบ ฮารุฮิเดินหลงเข้าไปในห้องดนตรี 3 ซึ่งเป็นที่ตั้งของ host club ชมรมสุดเว่อร์ของโรงเรียน แถมยังซุ่มซ่ามไปทำแจกันราคา 8 ล้านเยนแตก รุ่นพี่ที่ชมรมจึงบังคับให้ฮารุฮิทำงานชดใช้  ฮารุฮิถูกจับแปลงโฉมเป็นหนุ่มน้อยหน้าสวยกลายเป็นหนึ่งใน Host ของชมรมที่รวบรวมสุดยอดหนุ่มเจ้าเสน่ห์ของโรงเรียน       ฮารุฮิรู้ตัวว่าชอบทามากิ แต่ความสัมพันธ์ไม่คืบหน้าเพราะทามากิมีปมในจิตใจเรื่องครอบครัว สิ่งใดก็ตามที่อาจทำลายครอบครัวที่เขาสร้างขึ้น เจ้าตัวจะปฏิเสธโดยอัตโนมัติ ครอบครัวของทามากิหมายรวมสมาชิกชมรมโฮสท์คลับด้วย ฮิคารุจึงตัดสินใจบอกรักฮารุฮิ ซึ่งเป็นการทำตามความรู้สึกของตัวเองแต่ก็อยากช่วยกระตุ้นให้ทามากิทำความเข้าใจความรู้สึกของตัว

ปฐพีไร้พ่าย

    ชื่อเรื่อง ปฐพีไร้พ่าย เขียน Jiulufeixiang แปล Hongsamut จำนวนหน้า 865 สำนักพิมพ์ Hongsamut version Meb E book อ่านจบ 19 มีนาคม 2561 เรื่องย่อ      สิงอวิ๋นซื้อไก่ที่โดนถอนขนจนเหี้ยนผอมแห้งแรงน้อยมาจากตลาด ไก่ตัวนั้นคือ เสิ่นหลี อ๋องปี้ชางแห่งแดนอสูร นางหนีการแต่งงานเชื่อมสัมพันธ์และพลาดท่าถูกกองทัพที่มาเชิญนางกลับแดนอสูรตามบัญชาของจอมอสูรทำร้ายจนบาดเจ็บ สิงอวิ๋นให้นางกินหมั่นโถวเป็นอาหาร จับเจ้าไก่ไร้ขนอาบน้ำ แถมยังใช้ให้เฝ้าบ้านเหมือนแกล้งกัน เพราะเขารู้ว่าไก่ตัวนี้ไม่ใช้ไก่ธรรมดา เสิ่นหลีจึงพยายามหนีจากเขาทันทีที่ร่างกายแข็งแรงพอแต่ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็มักจะโดนจับลงหม้อเป็นไก่ตุ๋น สุดท้ายก็ต้องกลับมาตายรัง และเพราะสิ่งอวิ๋นอยากจะซื้อเนื้อให้เจ้าไก่โง่ของเขากิน ถึงได้เผยความสามารถที่ปกปิดมาตลอดจนผู้อื่นเข้าใจว่าเขาเป็นเทพพยากรณ์จนเรื่องราวเลยเถิดกลายเป็นความขัดแย้งกับองค์รัชทายาท เสิ่นหลีปกป้องชายหนุ่มไว้ได้ก็จริง แต่เมื่อบ้านที่สงบสุขถูกเผาจนวอด แค้นนี้ต้องชำระ สิงอวิ๋นจึงเสนอความช่วยเหลืออ๋องยุ๋ย โอรสที่เกิดจากพระสนมให้ชิงตำแหน่งรัชทายาท เสิ่นหลีใจจริงไม

ยามเมื่อลมพัดหวน

  ชื่อเรื่อง ยามเมื่อลมพัดหวน เขียน วาณิช จรุงกิจอนันต์ จำนวนหน้า 188 สำนักพิมพ์ บูรพาสาส์น (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 กันยายน 2536)     เรื่องย่อ      การบูรเหมือนนกในกรงทองของพ่อกับแม่ ผิดกับน้องชายที่ได้ไปเรียนถึงประเทศอังกฤษ แต่ละวันการบูรต้องปวดหัวกับการรับมือผู้ชายที่เข้ามาติดพัน ซึ่งแต่ละคนต่างมีพ่อกับแม่ของเธอคอยถือหางทำให้การบูรไม่สามารถตัดรอนได้ เมื่อความเครียดสะสมมากเข้าหญิงสาวจึงขออนุญาตพ่อและแม่ไปหาน้องชายที่อังกฤษ วันที่การบูรไปถึงพาทีประสบอุบัติเหตุรถชนจนขาหัก ชงจึงอาสาไปรับการบูรให้ แต่พาทีเห็นชงเป็นคนเนื้อหอม เลยโกหกว่าการบูรแต่งงานแล้ว มีลูกสาว 1 คน และเขียนจดหมายฝากชงไปเตี้ยมกับการบูร โดนใส่ไฟว่าชงเป็นเสือผู้หญิง ให้การบูรระวังตัว ชงพาการบูรมาพักที่บ้านพี่อ้วน พี่แสด รุ่นพี่ที่ปารีสซึ่งคุ้นเคยกัน ชงพาการบูรเที่ยวปารีส ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน การบูรเห็นว่าชงออกจะสุภาพไม่เหมือนกับที่น้องชายบอกมาในจดหมาย ยิ่งเขาเจ็บตัวเพราะช่วยตามโจรวิ่งราวการบูรจึงหายกลัวชายหนุ่ม ชงเองก็เริ่มหวั่นไหวกับการบูรแบบที่ไม่เคยเกิดกับผู้หญิงคนไหน จนเล่าเรื่องรักครั้งแรกที่ทำให้เ