สูตรสุคติ


ชื่อหนังสือ  -  The catalogue of death สูตรสุคติ
ชื่อภาษาอังกฤษ  -  The catalogue of death
เรื่องและภาพ  -  Bunpei  Yorifuji
แปล  -  ณัฐพงศ์  ไชยวาณิชย์ผล
จำนวนหน้า  -  162
สำนักพิมพ์  -  Salmon books

คำโปรย

เราตายแล้วขึ้นสวรรค์จริงไหม
คนส่วนใหญ่ตายเพราะอะไร
ตายอย่างไรถึงจะเรียกว่าเท่
ต้องทำอย่างไรถึงจะเข้าใจความตาย
ถอดสมการ แปลงสูตรของความตายนานาประเทศ
จำแนกความตายหลากหลายรูปแบบที่เราเคยไม่อยากเข้าใจ

บันทึก...คนอ่าน

     เล่มนี้ได้มาจากตลาดนัดด้วยราคาย่อมเยา เห็นชื่อเรื่องกับหน้าปกขาว ๆ คลีน ๆ คาดหวังว่าเนื้อหาจะเกี่ยวกับมิติด้านจิตใจเพื่อก้าวข้ามจากความเป็นไปสู่ความตาย แต่พอเปิดหนังสืออ่านจริง ๆ แล้ว ไม่ได้เป็นอย่างที่ เนื้อหาในเล่มไม่ได้กล่าวในมิติด้านจิตวิญญาณมากนัก แต่เน้นไปที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความตาย บางส่วนมีข้อมูลสถิติประกอบด้วย โดยเนื้อหาเริ่มไล่เรียงตั้งแต่การเปรียบเทียบว่าเมื่อคิดถึงความตายคนรอบข้างมีปฏิกริยาอย่างไร การค้นข้อมูลโดยคร่าว ๆ เล็กน้อย เป็นวิธีการเล่าที่เชื่อมโยงผู้อ่านให้รู้สึกใกล้ชิดกับผู้เขียน ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาหลัก ในส่วนของภาพประกอบส่วนใหญ่จะสรุปทุกอย่างในรูปแบบของ Timeline ซึ่งคนเขียนอาจจะต้องการสื่อถึงการเดินทางที่ความตายคือจุดจบ

- ประตูสู่ความตาย The Gate of Death
    บทนี้จะกล่าวถึงความตายนั้นเริ่มนับจากตรงไหน และสิ่งที่เรียกว่าความตายในแต่ละวัฒนธรรม เช่น ตายแล้วกลายเป็นจิตวิญาณแห่งธรรมชาติ ตกนรก ขึ้นสวรรค์ ตายแล้วดับ แต่ที่น่ารักสุดคงเป็นของแถบปาปัวนิวกินีที่ว่าตายแล้วไปเกาะข้าง ๆ ซึ่งเป็นแนวคิดดั่งเดิม แถมด้วยแนวคิดยุคนวัตกรรมอย่างเอาเถ้ากระดูกไปทำเป็นเพชร ยิงขึ้นไปเป็นดาวตก หรือแม้กระทั่งแช่แข็งศพไว้รอคนมาปลุกชีพ แอบชอบบทสรุปที่ว่า
ถ้าเรารู้สึกดีกับความตาย มีความตายเป็นตัวผลักดันให้ใช้ชีวิต เราก็คงใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
- จังหวะของความตาย The Timing of Death
    ในปัจจุบันอายุขับเฉลี่ยของมนุษย์เพิ่มขึ้น และคาดว่าอายุของคนเราจะสามารถแตะหลักร้อยปีจนเป็นเรื่องปกติได้ในอนาคตอันใกล้ ผิดกับสมัยก่อนที่คนอายุเกิน 20 มาได้ก็ต้องฉลองใหญ่แล้ว ยิ่งในยุคปัจจุบันที่การแพทย์ก้าวหน้า เราสามารถยื้อชีวิตด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราคิดว่าควรจะยืดชีวิตของคนที่รักให้นานที่สุด แต่ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไป กับการรักษาแบบบประคับประคองเพื่อให้สามารถเผชิญวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างสงบหรือแม้แต่การเลือกเวลาตายด้วยการการุณยฆาต

- สถานที่ตาย The Place of Death
- สาเหตุของความตาย The cause of death
    สองบทนี้ว่าด้วยสถิติ ก็อย่างที่รู้กันว่าคนเราตายที่ทุกที่และไม่เลือกเวลา

- ตำนานของความตาย The legend of Death
   ว่าด้วยความตายของบุคคลสำคัญต่าง ๆ รวมถึงความตายในภาพยนตร์หรือในละคร ภายใต้ concept ตายยังไงถึงจะเท่ ไล่เรียงมาตั้งแต่ศาสดาของศาสนาต่าง ๆ โดยส่วนตัวถ้าเลือกได้ขอตายแบบสงบ ๆ เถอะ อย่าโลดโพนนักเลย

- วิถีแห่งความตาย The will of Death
   ว่าด้วยทัศนคติเมื่อต้องเผชิญกับความตาย คนเราก็มีหลายแบบ อ่านแล้วชอบทัศนคติของคนเขียน เรียบง่ายดี
สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้คือลองย้อนมองเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิต ค่อย ๆ ทำความเข้าใจกับทุกเรื่องที่ผ่านมา ปะติดปะต่อเรื่องราวด้วยตัวเอง และพับทบชีวิตไปเรื่อย ๆ ตามความสามารถของตน พับทบไปทีละน้อยทุกวันสลับการหันไปมองความตายบ้าง เผื่อเวลาเผชิญหน้ากับความตายจริง ๆ ตัวเราจะได้ไม่โดนมันอัดจนยับเยิน
   อ่านเล่มนี้จบเราได้อีกมุมมองในการมองความตายในสายตาของคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาแบบคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ซึ่งค่อนข้างต่างจนเราที่เชื่อในศาสนาพุทธซึ่งมีแนวทาง และวิธีคิดในการรับมือกับความตายพอสมควร(แต่จะทำได้ไม่ได้ก็อีกเรื่อง ไม่ต่างจากเรื่องศีล 5) แต่บทสรุปของคนเขียนเราว่าใกล้เคียงกับเรื่องมรณานุสติ คือ อยู่กับปัจจุบัน และมองอนาคตบ้างเพื่อเตรียมความพร้อม

ความคิดเห็น