พระภูริทัต


ชื่อหนังสือ  -  พระภูริทัต
เรียบเรียง  -  ศรีสุรางค์
จำนวนหน้า  -  235 หน้า
สำนักพิมพ์  -  ทำมือ
version  -  Meb Ebook
อ่านจบเมื่อ  -  19 พฤษภาคม 2562

คำโปรย

     พระภูริทัต เล่มนี้เป็นหนังสือร้อยแก้วประกอบโคลง กล่าวถึงเรื่องราวในพระชาติก่อนของพระพุทธเจ้า เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาค ทรงบำเพ็ญศีลบารมี ข่มตนรักษาใจมิให้มีความโกรธ เป็นชาดกเรื่องที่ ๖ ในทศชาติ
      นำต้นเรื่องจากพระไตรปิฎกมาเรียบเรียงสำนวนร้อยแก้วใหม่ให้อ่านง่ายขึ้น ส่วนที่เป็นคาถาก็ร้อยกรองเป็นโคลงสุภาพและร่าย ตั้งใจทำถวายเป็นพุทธบูชา

บันทึก...คนอ่าน

      เคยอ่านผลงานของคุณศรีสุรางค์มาหลายเล่ม ได้แก่ เพลิงสีน้ำเงิน ดาราแดง วินธัย ธารทับทิม พอเห็นเล่มนี้แจกฟรีใน Meb ก็กดมาเก็บไว้โดยไม่ลังเล แต่ก็ดองไว้นานมาก ๆ ยังไม่ได้ฤกษ์ลงมืออ่านสักที จนกระทั่งละครเรื่องเพลิงนาคาออกอากาศ ในเรื่องกล่าวถึงพยานาคที่มีความแค้นและถูกกักขังด้วยมนต์อาลัมพายน์ ซึ่งในเนื้อเรื่องกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ในครั้งเสวยชาติเป็นพญานาคก็ยังไม่สามารถต้านทานมนต์นี้ได้ เลยนึกถึงหนังสือเล่มนี้

     เมื่อไม่นานมานี้ได้อ่านหนังสือชุด  นิทาน...อยากเล่าให้ฟังจัง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนิทานอินเดียเกี่ยวกับเทพปกรณัม หรือนิทานเวตาล พอได้มาอ่านกลับมาอ่านชาดก ก็รู้สึกถึงความคล้ายซึ่งคงเป็นเพราะชาดกเหล่านี้มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมอินเดียซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพระพุทธศาสนา เห็นได้จากความอินดี้แบบอินเดีย อย่างการระแวงลูกชายมาแย่งบัลลังก์เลยไล่ออกจากเมืองรอให้ตัวเองตายก่อนค่อยมารับสืบราชสมบัติ การที่พระโอรสมีแฟนเป็นนาค และความวิบัติอันเกิดจากความตอแหลของเต่า ฯลฯ 

    แต่ในความเหมือนมีความต่าง หากสังเกตจะเห็นว่าแต่ละการกระทำที่เกิดขึ้นล้วนมีผลกรรมเป็นเครื่องนำพา ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษอันเกินกว่าเหตุ การดูหมิ่นผู้อื่น ความโลภ ในเรื่องนี้แม้เรื่องราวจะไม่ได้บานปลายถึงขั้นเอาชีวิต เพราะแต่ละตัวละครล้วนมีสำนึกอยู่พอสมควร แต่ทุกผู้ต่างล้วนได้รับผลของการกระทำตามเหตุแห่งกรรม

   ข้อสังเกตเพิ่มเติมในทางธรรม คือ อุโบสถศีล ของพระภูริทัต นั้นแตกต่างจากที่เราคุ้นเคย ศีลอุโบสถของท่านมีองค์ ๔ ว่า ผู้ใดปรารถนา หนัง เอ็น กระดูก หรือ โลหิตของเรา ผู้นั้นจงนำไปตามปรารถนาเถิด เราจะไม่หวงแหนปกป้อง ยินดีสละให้แล้ว ซึ่งเมื่อทรงถูกอลัมพายต์ใช้มนต์ทำให้ได้รับทุกขทรมานก็ทรงไม่ขัดขืนจนกว่าอาลัมพายน์จะยินยอมปลดปล่อยพระองค์เอง ศีลของพระโพธิสัตว์คือการทำให้ได้ดั่งที่อธิษฐานจิต ส่วนศีลของคนธรรมดาอย่างศีล 5 คือการละเว้นความชั่ว ซึ่งเมื่ออธิษฐานรับมาแล้วก็ต้องพยายามทำให้ได้ และเมื่อทำได้ประโยชน์ย่อมเกิดขึ้นแก่ตัวเอง

   ในส่วนของยัญญเภทกัณฑ์ ที่พระภูริทัตได้แสดงตีตกเรื่องของพราหมณ์ และการบูชายัญนี่ตรงจนแอบแรง เรื่องของชนชั้นวรรณะไม่สำคัญเท่าการที่แต่ละคนรู้หน้าที่ของตน

    สรุป ห่างหายจากการอ่านชาดกมานาน พอธรรมะจัดสรรเลยมีโอกาสได้กลับมาอ่าน นอกจากเรื่องราวที่สนุกสนานสามารถดึงดูดใจให้ผู้ฟังติดตามเรื่องราวจนจบแล้ว ยังแฝงไว้ด้วยธรรม ขออนุโมทนาบุญอันเกิดแต่การเรียบเรียงและเผยแพร่ หวังว่าจะได้มีโอกาสอ่านชาดกเรื่องอื่น ๆ อีก


ความคิดเห็น