ฝึกสมองให้ฉับไว แค่ทำอะไรต่างจากเดิม


610731 ฝึกสมองให้ฉับไวฯ
ชื่อหนังสือ ฝึกสมองให้ฉับไว แค่ทำอะไรต่างจากเดิม
เขียน คาโต้ โทะชิโนะริ
แปล อนิษา เกมเผ่าพันธ์
จำนวนหน้า 200
สำนักพิมพ์ Amarin How To
อ่านจบเมื่อ 31 กรกฎาคม 2561

โปรยปกหลัง
หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับผู้มีอาการดังต่อไปนี้!
- ระยะนี้ไม่ค่อยมีกะจิตกะใจจะลงมือทำอะไรสักเท่าไรนัก
- ไม่ค่อยเข้าใจว่าตัวเองต้องการทำอะไรกันแน่
- อยากเลิกนิสัยเสีย แต่ก็เลิกไม่ได้
- อยากลับพลังสมองด้วยวิธีการง่าย ๆ
- เบื่อหน่ายการทำเรื่องเดิม ๆ ซ้ำซากทุกวัน
แค่เพียงให้ประสบการณ์ใหม่ ๆ เป็นของขวัญ สมองก็กระชุ่มกระชวยแล้ว

บันทึก…คนอ่าน
     หยิบเล่มนี้มาจากแผงขายหนังสือในตลาดนัดในสภาพใหม่กริบกับราคาย่อมเยาว์มาก ๆ เดาจากชื่อหนังสือตอนแรกเข้าใจเนื้อหาเน้นที่วิธีการฝึกสมองให้ฉับไว อย่างที่เราพอจะรู้กันดีอยู่ เช่น การใช้มือข้างที่ไม่ถนัด หรือ การนับเลขถอยหลัง แต่แค่พูดขึ้นมาลอย ๆ เดี๋ยวจะขาดความหนักแน่น ดังนั้นบทที่ 1 – 4 จึงว่าด้วยวิชาการที่เกี่ยวกับสมอง และสิ่งที่ขับเคลื่อนสมอง “ความต้องการ” ซึ่งไล่ระดับตั้งแต่กความต้องการพื้นฐาน ไปจนถึงความสมบูรณ์ของชีวิต ซึ่งคงจะเหมมือนกับที่เคยได้ยินมาว่าความเครียดจำเป็นกับมนุษย์ ถ้าไม่มีเลยเราจะเฉาตาย ซึ่งเราเองก็ต้องควบคุมให้ความต้องการอยู่ถูกที่ถูกทาง
     แถมด้วยความรู้ใหม่จากที่เคย ๆ สอนกันมาว่า สมองจะเติบโตเต็มที่ตอนเราอายุ 5 ขวบ แต่จากการศึกษาของอาจารย์คนนี้อ้างว่า “สมองจะเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะตาย โดยสมองกลีบหน้าจะเจริญเติบโตเต็มที่เมื่อย่างเข้าสู่วัย 50” ความทรงจำและความเข้าใจจะโตเต็มที่ตอนอายุ 30 ปี การประมวลและตีความข้อมูลจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 เติบโตเต็มที่ในวัย 40 ปี การควบคุมความสามารถในการลงมือปฏิบัติและการตัดสินใจจะปรากฎหลังวัย 50
     บทที่ 5 จึงจะว่าด้วยเทคนิคการค้นหาความต้องการ ที่น่าสนใจเอาไปทำตามก็อย่างเช่น ไปกินอาหารในร้านที่ปกติเราจะไม่กล้าเข้า(ฉายเดียวไปกิน MK หรือหมูกะทะเข้าข่ายไหม) จดบันทึกจินตนาการเพ้อฝัน ให้เวลากับการเตรียมตัวเตรียมการ ใช้เวลาอยู่กับตนเองในร้านกาแฟ
     บทที่ 6 จึงว่าด้วยเทคนิคบ่มเพาะความต้องการในด้านต่าง ๆ ด้านการสื่อสารก็จะประกอบด้วยการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสอย่างเต็มที่ ทำประจำอยู่อย่างเดียวคือ วันเงียบ ซึ่งทำบ่อยมาก เพราะมันคือการ charge ของคนที่ค่อนมาทางฝั่ง introvert อย่างเรา
     บทที่ 7 วิธีบ่มเพาะความต้องการด้านประสาทสัมผัส อันนี้ทำบ่อยคือ การเที่ยวตลาด และอีกข้อที่ชาวไทยเราเด่นมากถึงมากที่สุดอยู่แล้ว คือ การกินอาหารแปลกใหม่
     บทที่ 8 ความต้องการด้านอารมณ์ความรู้สึก คีบเมล็ดถั่วด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด
     บทที่ 9 ความสัมพันธ์ระหว่างสมองซีกขวา และสมองซีกซ้าย เดินถอยหลัง เดินเคี้ยวหมากฝรั่ง หมุนแขนขวาและแขนซ้ายไปคนละทิศทาง สวดมนต์ 10 นาทีทุกเช้า

ความคิดเห็น