อ่านจบ | 11 มิถุนายน 2558 |
เขียน | วรรณวรรธน์ |
ความยาว | 723 |
สำนักพิมพ์ | ณ บ้านวรรณกรรม |
พระยาบริรักษ์นำ เหม บุตรชายคนสุดท้องมาฝากตัวเรียนหนังสือกับพระครูโพที่วัดท้ายน้ำคลองมหาวงษ์ ระหว่างเล่นซุกซนแถวป่าช้าก็บังเอิญไปเห็นกลุ่มคนมาแอบซ้อมดาบจึงแอบดูด้วยความสนใจ จนถูกจับได้ การประลองสั่งสอนจึงเริ่มขึ้น ไหวพริบปฏิภาณของเหมเป็นที่ถูกใจของขรัวปู่ยม รับเป็นศิษย์สอนวิชาดาบอาทมาตให้
ครอบครัวของเหมรู้จักสนิทสนมกับครอบครัวของขุนนาฏยโกศล ซึ่งย้ายมาอยู่เรือนละแวกใกล้เคียง ส่วนตัวเหมนั่นสนิทกับลำดวนลูกสาวคนสุดท้องที่ยังเยาว์ของท่าน อีกทั้งการที่เหมพูด และ อ่านเขียนภาษาวิลาศได้ทำให้เป็นที่ถูกใจของนายชัยขรรค์มหาดเล็กหุ้มแพรที่สนใจศึกษาในเรื่องนี้เช่นกัน
หลวงสรอรรถหวังจะฮุบฝื่นที่แอบซ่อนมาในสินค้าของกัปตันเจเมสันที่ลักลอบนำเข้ามาเพื่อใช้รักษาภรรยาจึงเล่นเล่ห์ หลอกให้เจเมสันจ่ายสินบนให้กับพระยาบริรักษ์ ซึ่งซื่อตรงเป็นที่สุดจนเกิดเหตุทะเลาะวิวาท ก่อนที่จะซ้อนแผนฆ่าคนเพื่อโยนความผิด พระยาบริรักษ์ คุณหญิงชม และเหมถูกควบคุมตัว พระยาบริรักษ์ถึงแม้จะถูกทรมานสักเท่าไรก็ไม่ยอมรับดวยจิตตั้งมั่นว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ จนพระยาปลัดต้องแอบเข้าไปเจรจาให้ยอมรับผิดโดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้วิลาศให้เหตุนี้มาเป็นข้ออ้างในการทำสงครามโดยสัญญาว่าจะคพยายามช่วยเหลือคุณหญิงชมกับเหมจนสุดความสามารถ พระยาบริรักษ์จึงยอมรับผิด ด้วยความชอบที่ทำามแต่เก่าก่อนจึงเว้นโทษตายให้เหลือเพียงถูกตัดสินให้โบย และริบราชบาตรลงเป็นตะพุ่นหญ้าช้างทั้งครัว ทุกขเวทนาที่ได้รับทำให้พระยาบริรักษ์สิ้นหลังจากรับโทษได้ไม่นาน
คณะปี่พาทย์ละครของขุนนาฏยโกลถูกเกณฑ์ไปกล่อมทัพประจำศึกพวกเขมรและญวน ระหว่างเดินทางหมื่นวิชิตที่ชอบพอลำดวนเอาพยายามเอาใจท่านขุนด้วยสุรา จนขาดสติตกต้นตาลจนขาหัก จึงขอความช่วยเหลือจากคณะของขุนศรีชัยทิตยที่ออกมาโพนช้างในละแวกนั้นให้ไปส่งยังเมืองพัตบอง โดยไม่ทราบเลยว่า ในขบวนจะมี เหม ซึ่งฝึกเป็นควาญช้างรวมอยู่ด้วย เจ้าตัวน้อยของเขาเติบใหญ่เป็นนางละครที่งดงาม ที่เปี่ยมไปด้วยน้ำใจไม่เปลี่ยนแปลงเหมนั้นเฝ้ามองและปกป้องลำดวนจากหมื่นวิชิตโดยไม่เปิดเผยตัว ความเอ็นดูฉันน้องเปลี่ยนไปเป็นความรักฉันหนุ่มสาว ลำดวนนั้นจำเหมไม่ได้เพราะเวลาผ่านมาฌเนินนาน อีกทั้งควาญช้างต้องถือกรรมห้ามตัดผมโกนหนวด แต่ในที่สุดรอยยิ้มที่คุ้ยเคยก็ทำให้ลำดวนจำเหมได้
เมื่อเดินทางมาถึงพัตบองที่เจ้าพระยาบดินทร์เดชารั้งทัพอยู่ เหมได้พบกับสมิงสอดน้อยที่ตอนนี้มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงกำแหงอีกครั้ง ท่านเจ้าคุณผู้ใหญ่ให้จัดการประลองเพื่อคัดเลือกทหารใหม่ เหมถูกกลั่นแกล้งให้ต้องประลองกับพระศรีสิทธิสงครามทหารเอก ซึ่งเหมได้ใช้วิชาดาบอาทมาตกำชัยชนะเอาไว้ได้ ได้เป็นนายทหารประจำตัวท่าน เหมเป็นกำลังสำคัญในการตีค่ายญวนที่คลองวามะนาว ได้รับความดีความชอบปลดตะพุ่น ในทัพคราวนี้เองพระยาปลัดที่คุมทัพหนุนไม่ไม่ทันฤกษ์ถูกลงอาญาตัดศีรษะ หลังการสู้รับอีกหลายครั้งสยามก็ได้ชัยชนะ เหมเดินทางกลับพระมหานครพร้อมเจ้าพระยาบดินทรเดชาเพื่อร่วมงานพระเมรุพระบรมราชชนนี ด้วยยศหมื่นสุรบดินทร์ หลังจากนั้นก็ย้ายมาสังกัดจมื่นไวย นายหันแตรนำเรือกลไฟเอกสเปรสมาขายให้สยาม แต่ด้วยสภาพของเรือไม่สมกับราคา สยามจึงไม่รับซื้อทั้งหมด จะรับซื้อเพียงปืนใหญ่ที่ติดมากับเรือเพื่อรักษาน้ำใจ แต่นายหันแตรไม่ยอม ใช้วิธีข่มขู่ยิงสลุตจนทำให้ให้เกิดความแตกตื่นในพระนคร เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของสยาม เหมออกหน้าเป็นผู้ใช้อุบายหลอกนายหันแตรมาขังเพื่อให้ล้มเลิกความตั้งใจ แม้ว่าแผนการจะสำเร็จ แต่นายหันแตรก็ผูกพยาบาทเหมไม่น้อย เหมแต่งงานกับลำดวนสมกับที่รอคอย หลังคืนเข้ามาเหมต้องไปทัพตามหมายเกณฑ์เพื่อปราบพวกจีนตั้วเหี่ย ซึ่งมีหลวงสรออรรถที่เป็นเหตุให้พ่อของเหมต้องโทษจนตรอมใจตายรวมอยู่ด้วย หลังจากกลับจากศึก เหมก็กลับมาอยู่เรือน คอยเอาใจใส่ลำดวน จนคลอดลูกสาวคนแรก ชื่อ มาลัย
วิลาศส่งคณะฑูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม ข้อเสนอที่ยื่นมาให้พิจารณานั้นมีข้อเสียเปรียบกลายประการจึงตกลงกันไม่ได้โดยง่าย การเจรจาเริ่มตึงเครียดเมื่อวิลาศจึงยกข้อเรื่องคดีความกับนายหันแตรมาอ้างให้ส่งตัวคนที่ดูหมิ่นให้กับวิลาศ เหมคิดยอมเสียสละตัวเองเพื่อแผ่นที่ทั้งๆ ที่คนรอบตัวพยายามจะห้ามปราบ เขาส่งตัวเองให้กับวิลาศและโดดลงทะเลก่อนที่เรือส่งตัวจะไปถึงเรือใหญ่ แท้จริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอุบายของเหม เหมกลับมาหาลำดวน เก็บตัวเป็นสดัมอยู่ที่เพนียดอยุธยา หกปีผ่านไป เจ้าคุณไวยที่รู้ความจริงว่าเหมยังไม่ตาย มาขอให้เหมร่วมเดินทางไปเมืองวิลาศกับคณะฑูตที่กำลังจะออกเดินทางในฐานะหมอนวด
ไม่จำเป็นต้องให้ตัวเองยิ่งใหญ่เหนือใคร ไม่ต้องมีใคจารรารึกสลักนามของข้าปรากฏไปอีกเป็นสิบปี ร้อยปี…ขอเพียงได้รู้ว่าชีวิตหนึ่งได้ประทำและอุทิศเพื่อแผ่นดินผืนนี้ในฐานะของข้าบดินทร์
characterเหม : บุตรชายคนสุดท้องของพระยาบริรักษ์ ซึ่งเกิดกับคุณหญิงชมภรรยาเอกเป็นหนุ่มรูปงามเป็นที่เลื่องลือของเมืองปากน้ำ แอบเรียนภาษาวิลาศกับแหม่มมาเรียภรรยาของกัปตันเจเมสันมาตั้งแต่อายุ 12 เพราะเกรงบิดาไม่นิยมพวกวิลาศถึงแม้จะทำหน้าที่เก็บภาษีค่าขนอนปากเรือ นอกจากนี้เหมยังได้ร่ำเรียนกับพระครูโพ นอกจากอ่านออกเขียนได้แล้วยังเข้าใจตำราพิชัยสงคราม และมีวิชาดาบอาทมาต |
ลำดวน : บุตรีคนที่สาม ซึ่งเป็นคนสุดท้องของขุนนาฏยโกศลกับคุณปิ่น มีพี่สาว 2 คน คือ ทับทิม และ บัว หญิงสาวมีศักดิ์เป็นหลานสาวของเจ้าพระยาพระคลัง เติบโตเป็นตัวนางที่งามหนักหนาทั้งนางสีดาหรือนางบุษบา ผูกพันกับเหมมาตั้งแต่เด็ก |
สมิงสอดน้อย : นายทหารรามัญ ศิษย์ร่วมสำนักของเหมในการเรียนดาบอาทมาต รับราชการในกองทัพจนได้ยศศักดิ์ รักและเอ็นดูเหมเหมือนน้อง |
บัว : พี่สาวของลำดวน สนใจในตัวเหม แต่เมื่อครอบครัวของพระยาบริรักษ์ประสบเคราะห์กรรม ก็ถวายตัวเป็นข้าเสด็จในกรม |
เรื่องนี้สนุกมาก อ่านตอนที่ชอบซ้ำไปซ้ำมา กว่าจะวางได้ นึกว่าจะต้องไปเลิกที่ถ้ำกระบอกซะแล้ว สิ่งที่กระแทกใจ ที่สุด ยกให้ แนวคิดของเรื่อง ที่กระตุ้นให้ทุกคนสำนึกถึงบุญคุณของแผ่นดินที่เราเดินเหยียบอยู่ทุกวัน ว่ามีคุณต่อเราเพียงใด รวมถึงตอกย้ำสำนึกในการทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินที่เราอาศัยอย่างร่มเย็นเรื่อยมา ไม่จำเป็นต้องมียศถาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ แต่ก็ช่วยกันคนละไม้ละมือเพื่อปกป้องรักษาให้แผ่นดินนี้ ให้คงความร่มเย็นสืบไปได้ ดังจะเห็นแนวความคิดนี้สอดแทรกในบทสนทนาของตัวละครต่างๆ อย่าง
สำหรับตัวละครที่ดำรงได้เต็มความหมายของคำว่า ข้าบดินทร์ ยิ่ง ในมุมมองของเรา คือ พระยาบริรักษ์ ที่เห็นแก่ประโยชน์ของแผ่นดิน ยอมรับความผิดที่ตนไม่ได้ก่อ เพื่อป้องกันมิให้ต่างชาติใช้เหตุที่เกิดจากตัวท่านมาบีบคั้นบ้านเมือง ยอมถูกตราหน้าว่าเป็นคนผิด สละสิ้นศักดิ์ศรีที่สั่งสมในฐานะข้าแห่งแผ่นดินสัตย์ซื่อ ที่ประกอบคุณงามความดีมาตลอดชีวิต
"ข้าทำไปมิใช่เพื่อตนเอง แต่ได้ทำเพราะถือว่าข้าคือข้าแผ่นดิน ข้าได้ทำแล้วดั่งที่ได้ถวายสัตย์สาบานจะปกป้องแผ่นดินนี้ไว้ด้วยชีวิต แม้ชีพต้องจบสิ้น ก็ยังสำนึกเสมอว่า...ได้กระทำเพื่อสิ่งใด"
นอกจากพ่อเหมคนเก่ง ที่ใฝ่รู้ จนกลายมาเป็นคุณแก่ตนในภายหลัง ตัวละครที่ไร้เทียมทานกว่าสำหรับเรา คือ เจ้าลำดวน เด็กน้อยมากน้ำใจ กับความช่วยเหลือที่เจ้าตัวน้อยหยิบยื่นให้เหม และคุณหญิงชมในยามตกยาก ประทับอยู่ในใจของเหมเสมอมา เป็นเหมือนแสงสว่างให้เหมพยายามให้ตนหลุดพ้นจากการเป็น ตะพุ่น เพื่อให้ตนเองคู่ควรกับ เจ้าตัวน้อย ที่ได้กลับมาพบกันอีกครั้ง เป็นสตรีที่กุมชีวิตของชายชาติทหารที่เก่งไปเสียทุกเรื่องอย่างเหมได้อย่างแท้จริง... อยากได้ฉากหวานๆ เพิ่มน้ำตาลอีกนิดนึงจัง เหมกับลำดวนไม่ค่อยได้อยู่ด้วยกัน แต่ก็อยู่ในแผนชีวิตของเหมเกือบตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นการปลูกเรือน 7 ห้อง เพื่อให้นอกชานมีพื้นที่เพียงพอเห็นลูกๆ 7-8 คนหัดรำละคร(ถามลำดวนหรือยังพ่อ) แอบเหนื่อยแทนลำดวนเบาๆ ตอนก่อนไปเมืองวิลาศก็จัดมา 4 แล้วนะนั่น คริ คริ อ่านนิยายแนวนี้นอกจากได้ความสนุกสนานแล้ว บรรยากาศเก่าของของไทยเมื่อ 200 ปีก่อนก็น่าหลงใหลไม่แพ้กัน ฉากที่บรรยายได้ละเอียดอ่านแล้วได้ความรู้ ได้แก่ ฉากงานแต่งงานของทับทิมในบทที่ 8 ที่กล่าวถึงของกินชนิดต่างๆ รวมถึงพิธีต่างๆ อย่างการที่เจ้าบ่าวไปนอนเฝ้าเรือนหอเพื่อรอฤกษ์ส่งตัว อ่านถึงตรงนี้แอบนึกถึงเรื่องสายโลหิต ยังดีที่คุณพี่เหมยังได้เข้าหอก่อนไปทัพ favorite scene
บทที่ 9 ในงานแต่งงานช่วงที่รอบ่าวสาวเปลี่ยนชุด ลำดวนยืนเกาะขอบเวทีดูวงมโหรี พอดีเหมถือกระทงข้าวเม่ามาคุยด้วย สองพี่น้องคุยกันน่ารัก โดยเฉพาะคำทิ้งท้ายที่ว่า “ฉันดีใจที่มีคนเป็นห่วง แต่ก่อนฉันมีแต่พี่สาวเป็นห่วง ตอนนี้ก็มีพี่ชายมาห่วงฉันเพิ่มอีกคน” |
บทที่ 17 คุณหญิงชม กับ เหมซึ่งต้องโทษในเรือนจำ ถูกต้อนมาเดินกลางตลาดเพื่อขอเศษอาหาร คุณหญิงชมเป็นลมเพราะแดดจัด เหมจึงร้องขอน้ำจากคนในตลาดให้มารดาตน แต่ไม่มีใครให้ความช่วยเหลือเพราะไม่อยากเดือดร้อน มีเพียง เจ้าลำดวน ที่หักผลแตกกว่าสดที่พ่อมีน้ำยื่นส่งให้ เหมนั้นถึงแม้จะอับอายที่ตนเองตกอับ แต่ก็ซึ้งในน้ำใจของเจ้าตัวน้อย ก่อนที่ลำดวนจะถูกกระชากถอยห่าง และตีทำโทษ เหมจดจำน้ำใจอันประเสริฐของลำดวน และตอบได้เพียงคำภาวนา ฉากนี้อ่านไปก็น้ำตาซึมกับน้ำใจอันงดงามของเจ้าลำดวน |
บทที่ 44 ระหว่างของรอคุณหญิงชมไปสู่ขอแม่ลำดวน หลวงคำแหงกับหลวงเผด็จมาส่งข่าวเรื่องหมื่นวิชิต เหมเลยชวนให้อยู่กินเหล้าด้วยกันเพื่อแก้เซ็ง แต่สองหลวงดันรีบกลับ เพราะจะไปค้นผ้างามๆ เพื่อนุ่งตามขบวนคุณหญิงชมเข้าวังไปขอแม่ลำดวนด้วย เล่นเอาเหมเซ็งเป็นกำลัง เพราะต้องกลายเป็นคนสุดท้ายที่รู้เรื่อง |
ก็ใช่ว่าคนดีของแผ่นดินจะหมายถึงแต่คนที่เข้าไปรับราชการให้มีเกียรติยศรุ่งเรืองเสมอไป ไอ้พวกไพร่ที่ไร้ชื่อเสียงเกียรติยศ แต่กล้าอุทิศตนเพื่อบ้านเกิดเมืองนอน ยอมเป็นเถ้าธุลีเพื่อทดแทนคุณแผ่นดินที่เกิดมา ก็นับได้ว่าเป็นคนสำคัญของแผ่นดินได้เช่นกัน เอ็งอย่าถือแต่เกียรติยศชื่อเสียงมาเป็นตัววัดคุณค่าความดีเพื่อชาติบ้านเมืองเลยเจ้าสมิง ทหารไปรบเป็นศพเอาเลือดทาทับถมแผ่นดิน…นั่นย่อมเป็นผู้มีเกียรติยศรุ่งเรืองเสียยิ่งกว่าผู้ใด |
บทที่ 16 ขรัวปู่ยม |
“การแผ่นดินทำไมจึงสำคัญหนักหนา ไฉนเจ้าคุณพ่อจำต้องออกรับให้ร่างกายบอบซ้ำ ทำให้ตัวเองเดือดร้อนยุ่งยากถึงเพียงนี้” “เหมเอย…อย่ามองสิ่งใดไม่พ้นฝ่ามือ ชีวิตของเรามิใช่ตัวเราเพียงคนเดียว แต่จงมองไปถึงคนรอบข้าง และยังคนที่จักอยู่ต่อไปในภายภาคหน้า ถึงเจ้าจักเกิดเป็นเศษเสี้ยวธุลีของแผ่นดิน แต่เจ้าจงรู้ว่าตัวเองมีความหมายต่อแผ่นดินแผ่นทรายเพียงใด พ่อเติบใหญ่มีตำแหน่งราชการเป็นถึงพระยาถือน้ำได้ ก็เพราะพ่อรับราชการเพื่อแผ่นดิน ไม่ใช่กระทำเพื่อฝ่ามือตน ถึงเราทนเจ็บปวดครั้งนี้ แต่ทำให้แผ่นดินดำรงอยู่ไป แม้ตายท่ามกลางเสียงสาปส่ง พ่อก็ถือได้ว่ากระทำการทดแทนคุณแผ่นดินด้วยความบริสุทธิ์ใจ” “สิ่งที่สำคัญที่สุดของคนเราคือการตอบแทนบุญคุณ บุญของพ่อและของเจ้าที่เกิดมาบนผืนแผ่นดินนี้ แผ่นดินอุดมสมบูรณ์กว่าที่ใดๆ ให้ข้าวให้น้ำเฝ้าหล่อเลี้ยงจนเจ้าเติบใหญ่ ไม่มีที่ใดที่พ่อรักและห่วงเท่าที่นี่ ถึงวันนี้เจ้าจะกลายเป็นคนไร้ค่า เป็นแค่ตะพุ่นหญ้าช้าง แต่ใช่ว่าแผ่นดินจะไม่รองรับฝ่าตีนเจ้า หรือไม่ให้ข้าวให้น้ำเจ้ากิน หากวันหน้ามีชีวิตต่อไป จงทำตัวเป็นธุลีที่มีค่าของแผ่นดิน อย่าได้ดำรงตนเป็นอันธพาลจัญไรให้บ้านเมืองเดือดร้อนเพราะต้วเจ้า หากเป็นเช่นนั้นวิญญาณของพ่อจะไม่ให้อภัยเจ้าไปชั่วชีวิต” |
บทที่ 18 พระยาบริรักษ์ |
ช่วยเค้าขาย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น