มิโคชิบะ กาคุโตะ กับความน่าจะเป็นของคดีฆาตกรรม

มิโคชิบะ กาคุโตะ
ชื่อเรื่องภาษาญี่ปุ่น kakuritsu sosakan mikoshiba gakuto misshitsu no game
เขียน Kiminaga  Manabu
ภาพ Kazuaki
แปล จุฬาลักษณ์  กรณ์สกุล
จำนวนหน้า 247
สำนักพิมพ์ Enter books
plot
   โทโมกิห้ามไม่ให้ตำรวจรุ่นพี่ทำร้ายร่างกายผู้ต้องสงสัยในห้องสอบปากคำ คู่กรณีถูกปลดจากราชการเพราะทำผิดวินัย ส่วนเธอก็ถูกพักราชการหนึ่งเดือน  สึยามะเสนอชื่อย้ายโทโมกิมาประจำฝ่ายสอบสวนพิเศษ ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งใช้ห้องสุดทางชั้นใต้ดินของสถานีตำรวจเซตะมาจิเป็นที่ทำการ ฝ่ายนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อยกระดับความถูกต้องแม่นยำในการสอบปากคำ โดยมี มิโคิบะ  กาคุโตะ รองศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ และ กนโนะผู้เปิดปากคนร้าย เป็นผู้ร่วมงาน โดยเอาทฤษฎีเกมมาใช้ในการสืบหาความจริงแม้ผู้ต้องสงสัยจะปิดปากเงียบ
charecter
มิโคชิบะ  กาคุโตะ :
    รองศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัย มาช่วยงานของฝ่ายสอบสวนพิเศษ มีจุดอ่อนเรื่องคำพังเพย เลี้ยงแมวสามสีตัวผู้ที่ชื่อว่า มิเกลันเจโล เมื่อ 15 ปีก่อนพ่อของเขาถูกจับเพราะตกเป็นผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรมลูกศิษย์ถึงแม้จะถูกปล่อยตัวเพราะหลักฐานไม่เพียงพอแต่ก็ทนการลงโทษจากสังคมไม่ได้จึงผูกคอตาย ซึ่งมิโคชิบะที่ตอนนั้นยังเป็นนักเรียนมัธยมปลายเป็นผู้พบศพ
นีสึมะ  โทโมกิ :
   ย้ายมาประจำที่ฝ่ายสอบสวนพิเศษหลังเกิดเรื่องในห้องสอบปากคำ มิโคชิบะชอบเรียกเธอว่าสาวเจ้าอคติ พ่อของเธอเป็นตำรวจสืบสวนที่ถูกแทงเสียชีวิตไปเมื่อ 5 ปีก่อน
กนโนะ  มิจิโนริ :
   ประจำอยู่ฝ่ายสืบสวนพิเศษ ตำรวจสืบสวนฝีมือดี มีฉายาว่า กนโนะผู้เปิดปากคนร้าย
log
      อันที่จริงก็พอจะชินสไตล์พระเอกนางเอกต่อปากต่อคำจากเรื่องยาคุโมะแล้ว แต่พอมาเจอเรื่องนี้รู้สึกว่ามันชักจะเกินพอดีไปหน่อย ออกแนวน่ารำคาญนิดๆ ด้วยซ้ำ เพราะเล่นเถียงกันชนิดที่ว่า เก็บมันเสียทุกประโยค ดีว่าหลังๆ อาการดีขึ้นหน่อย
     ประเด็นเรื่องการสอบสวนที่ถูกยกเอามาพูดถึงเป็นปัญหาโลกแตกของทั่วทุกมุมโลก แน่นอนว่าไม่มีใครอยากจะยอมรับความผิดมาไว้กับตัว คนดียังพอมีโอกาสสารภาพออกมาเองเมื่อหิริ โอตัปปะทำงาน แต่คนที่ทำผิดซ้ำซากล่ะเป็นอย่างไร และถึงแม้จะไม่ได้กระทำผิดแต่เมื่อถูกเชิญตัวไปสถานีตำรวจสังคมรอบข้างล้วนลงโทษเขาคนนั้นไปแล้ว โดยเฉพาะสังคมที่ระเบียบวินัยสูงโทษทางสังคมนั้นยิ่งรุนแรง การดำเนินกระบวนการยุติธรรมจึงควรเป็นไปโดยรัดกุมและรอบคอบ แต่ปัญหาก็คือ แล้วเมื่อไหร่ผู้รักษากฎหมายจะวิ่งทันคนชั่วที่นับวันยิ่งมีเพิ่มขึ้นทุกวัน จนคุกจะไม่พอขังอยู่แล้ว เหล่าผู้บังคับใช้กฎหมายจึงเพียรพยายามหาเครื่องมือต่างๆ มาช่วยป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ที่เราคุ้นเคยกันดีและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายคือนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งยกไว้ เพราะในเรื่องนี้เราจะว่าด้วยเทคนิค profiling ซึ่งการคำนวนทางคณิตศาสตร์เข้ามามีบทบาท ใครเป็นแฟน series FBI ต้องเคยได้ยิน แต่เพิ่งเข้าใจแจ่มแจ้งว่าเค้าทำยังไงก็จากเรื่องนี้นี่เอง
     ในเล่มนี้เนื้อหาคดีไม่ซับซ้อนนะคะ คนที่อ่านนิยายนักสืบมาเยอะๆ คงพอเดาทางได้ตั้งกะกลางเรื่องด้วยซ้ำ แต่เราเพลินกับคำอธิบายเทคนิคการสืบสวนเหนือสิ่งอื่นใด ด้วยความที่วิชาสถิติพอจะได้ A ได้ B มาเชยชมก็เลยพอเข้าใจสูตรที่กาคุโตะยกขึ้นมาใช้ ไม่เหมือนตอนอ่านเรื่องนักบัญชี อันนั้นอิฉันตายสนิท
      สำหรับติ่งยาคุโมะกับฮารุกะ มีโผล่ออกมาในเรื่องนิดหนึ่งด้วยค่ะ  ยาคุโมะรู้จักกับกาคุโตะ แต่ก็เป็นแนวๆเดินผ่านล่ะนะ 


ความคิดเห็น